โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ
โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ในตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อเกษตรกรในการที่จะพัฒนาส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ ประสบความสำเร็จและสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่าง ยั่งยืน ประวัติที่มาของโครงการนี้ เริ่มตอนที่ตอนพระองค์ท่านประทับอยู่ ณ วังไกลกังวลแล้วมีชาวบ้านนำมันเทศมาถวาย ช่วงนั้นพระองค์ ต้องเสด็จกลับกรุงเทพเลยรับสั่งให้ เจ้าหน้าที่นำหัวมันเทศนั้นไปวางไว้บนตาชั่งในห้องทรงงาน จากนั้นก็เสด็จกลับกรุงเทพ เวลาล่วงเป็นเดือน เมื่อเสด็จกลับมาหัวหินทรงพบว่ามันเทศนั้นได้แตกใบ เลยตรัสว่า "มัน อยู่ที่ไหนก็ขึ้น" ดังนั้นจึงมีพระราชดำริให้จัดหาที่ดิน เพื่อทำโครงการด้านการเกษตร ปี พ.ศ. 2551 ก็ได้ซื้อที่ดินจำนวน 120 ไร่ และต่อมาในกลางปี 2552 ทรงซื้อที่ดินแปลงติดกันเพิ่มอีก ณ บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จำนวน 250 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์รวบรวมพืชเศรษฐกิจนานาชนิด เพื่อเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรโดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอท่ายางจังหวัดเพชรบุรี ที่มีพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ทรงพระราชทานพันธุ์มันเทศ ซึ่งงอกออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้องทรงงานที่วังไกลกังวล ให้นำมาปลูกไว้ที่ที่ดินแปลงนี้พระราชทานชื่อโครงการว่า "โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ" โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมโครงการนี้ด้วยพระองค์เอง มีพระตำหนักทรงงานที่ตั้งอยู่ภายในโครงการเป็นบ้านไม้สองชั้นเรียบง่ายที่ใช้ทรงงานและพักผ่อนพระอิริยาบถเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยม โครงการนี้ รวมถึงรถที่ทรงใช้ทรงงานก็จอดอยู่ภายในบริเวณพระตำหนักด้วย
เนื้อที่ภายในโครงการกว้างไกลตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา ในพื้นที่แห่งนี้ สภาพเดิมโดยทั่วไปแห้งแล้งเจ้าของเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสตัดไม้ขาย มีแปลงปลูกมะนาวเดิมอยู่ประมาณ 35 ไร่ แปลงอ้อยประมาณ 30 ไร่ การพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เป็นแปลงยูคาลิปตัสทั้งหมด แต่ปัจจุบันได้ จัดสรรทำการเกษตรเป็นอย่างดี มีทั้งแปลงพืชเศรษฐกิจที่ปลูกหลายชนิด อาทิ สับปะรด มะนาว มะพร้าว รวมทั้งมันเทศ นอกเหนือจาก พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ ก็ยังมีการปลูกไม้ผล พืชไร่ และพืชผักต่างๆ อาทิ แก้วมังกร ชมพู่เพชร กล้วย ฟักทอง กะเพรา โหระพา พริก ฯลฯ มีแปลงปลูกข้าว ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ปลูกยางพารา โดยทั้งหมดนี้จะเน้นไม่ให้มีการใช้สารเคมี หรือหากต้องใช้ก็ต้องมีในปริมาณ ที่น้อยที่สุด มีฟาร์มโคนม ฟาร์มไก่ และแปลงเกษตรที่จัดเป็นสวยสวยให้คนที่แวะมาเยี่ยมชม นอกจากนี้ ได้สร้างกังหันลมผลิตไฟฟ้าขาย ให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และบริษัท พระพายเทคโนโลยี จำกัด ร่วมกันออกแบบติดตั้ง กังหันลมและระบบจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 20 ชุด ขนาดกำลังผลิตรวม 50 KW ได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากกองทัพบก และได้รับพระราชทานวัวนมจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดามาเลี้ยงไว้ที่นี่ โดยใช้พื้นที่ใต้กังหันลมเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าสำหรับ เลี้ยงวัว ด้านหน้ามีร้านโกลเด้นท์เพลส ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆของโครงการ